ประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตก

Permanent URI for this collection

บทความวิชาการ บทความวิจัย วิทยานิพนธ์ และงานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของภูมิภาคยุโรปตะวันตก

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 5 of 45
No Thumbnail Available
Publication

อิสตรีและมังกร: ไดโนเสาร์ ผู้หญิงใหม่ และความกังวล ว่าด้วยความเสื่อมทรามในนวนิยายเรื่อง The Lair of the White Worm ของแบรม สโตเกอร์

มิ่ง ปัญหา, Ming Panha, กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์, Kornphanat Tungkeunkunt (2016)

ความรุนแรงอันบังเกิดจากการมองแกนเวลาเป็นเส้นเดียวและตรงไปข้างหน้าในนวนิยายเรื่อง The Lair of the White Worm ของแบรม สโตเกอร์ นั้นเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านพญางูขาว ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ที่ยังมีชีวิต และเลดี้ อราเบลลา มาร์ช ตัวละครที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ “ผู้หญิงใหม่” ความรุนแรงนี้เองสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับควาเสื่อมทรามของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ในสมัยวิกตอเรียน ไดโนเสาร์สะท้อนการเสื่อมถอยของเผ่าพันธุ์มนุษย์เนื่องจากนิทรรศการไดโนเสาร์ซึ่งมีชื่อเสียงในสมัยวิกตอเรียนที่ซิเดนแนม พาร์กได้จัดเส้นทางนิทรรศการย้อนกลับไปยังยุคดึกดำบรรพ์ โดยมีรูปปั้นไดโนเสาร์ต่างๆ อยู่ที่ปลายทาง นอกจากนี้ พญางูขาวในนวนิยายเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นสัตว์ดุร้ายป่าเถื่อน มีจิตใจแข็งกระด้าง และไม่อาจเห็นอกเห็นใจสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นได้ อย่างไรก็ตาม คำบรรยายซากศพของทั้งพญางูและสิ่งที่เชื่อว่าเป็นเหยื่อของพญางู ซึ่งถูกทำลายด้วยตัวละครที่เป็นมนุษย์นั้น แสดงให้เห็นความรุนแรงและ “ความไร้มนุษยธรรม” เพราะความคิดที่ว่าความเห็นอกเห็นใจต่อสัตว์เป็นคุณลักษณะของมนุษย์นั้นเป็นที่แพร่หลายในสหราช อาณาจักรช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อตัวเรื่องรวมพญางูกับเลดี้ อราเบลลา มาร์ช ผู้มุ่งมั่นจะแต่งงานกับชายฐานะร่ำรวยนั้น เราอาจตีความได้ว่าความกังวลเกี่ยวกับความเสื่อมถ่อยและเสื่อมทรามทำให้นวนิยายเล่มนี้โจมตีผู้หญิงใหม่และผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง เพราะผู้หญิงเหล่านี้ตั้งคำถามกับเพศวิถีของผู้หญิงและอาจไม่คิดมีทายาท ในเมื่อเลดี้ อราเบลลาสามารถรวมร่างกับพญางูได้ด้วย เราจึงอาจตีความได้เพิ่มเติมว่าเธอมีลักษณะเป็นแม่มีลึงค์ ซึ่งท้าทายปิตาธิปไตย ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการตอนในหมู่ผู้ชาย และทำให้เพศสถานะและเพศวิถีของเธอกำกวม อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งของพลังอำนาจผู้ชายเพื่อเอาชนะ “สัตว์ร้าย” ในนวนิยายได้ นั้นก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์ในกลุ่มเพศเดียวกัน ซึ่งอาจนำไปสู่จุดจบของเผ่าพันธุ์และไม่ให้กำเนิดทายาทเช่นกัน ดังนั้น บทความชิ้นนี้จึงมุ่งหมายที่จะชี้ให้เห็นว่านวนิยายเรื่องนี้ตั้งคำถามกับการสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงอันเกิดจากแนวคิดเกี่ยวกับความก้าวหน้าและอนาคต โดยแสดงให้เห็นความย้อนแย้งที่อยู่ใจกลางการรักษาเผ่าพันธุ์ของมนุษย์

No Thumbnail Available
Publication

สันตะปาปาไพอัสที่ 9 (ค.ศ. 1846 - 1878) กับการต่อสู้ในการรักษาบทบาทและอำนาจอธิปไตย Pius IX (ค.ศ. 1864 - 1878)

อนันต์ชัย เลาหะพันธุ, ธิกานต์ ศรีนารา, Thikan Srinara (2013)

บทความนี้เป็นการศึกษาชีวิตของสันตะปาปาไพอัสที่ 9 ซึ่งเป็นสันตะปาปาที่ดำรงตำแหน่งสันตะปาปายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของคริสตจักรคาทอลิก ทรงครองสมณศักดิ์สันตะปาปาตั้งแต่ 1846 จนกระทั้งสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1878 หลังได้รับเลือกตั้งเป็นสันตะปาปาแล้ว พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในคาบสมุทรอิตาลี และได้รับการกล่าวขวัญว่าทรงเป็นนักปฏิรูปที่คำนึงถึงอิสรภาพและความก้าวหน้า นอกจากนี้ พระองคืยังทรงมีท่าทีให้การสนับสนุนพวกชาตินิยมอิตาลีอีกด้วย อย่างไรก็ดี ระหว่างการปฏิวัติ พ.ศ. 1848 หลังจากที่ทรงปฏิเสธที่จะประกาศสงครามกับออสเตรียซึ่งครอบครองดินแดนบางส่วนของคาบสมุทรอิตาลี สันตะปาปาไพอัสที่ 9 ก็ทรงถูกประณามว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติของตน และชื่อเสียงของพระองค์ที่มีในหมู่พวกชาตินิยมอิตาลีก็จางหายไปอย่างสิ้นเชิง สันตะปาปาไพอัสที่ 9 ทรงเป็นสันตะปาปาองค์สุดท้ายที่ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองรัฐสันตะปาปา พระองค์ทรงเสียดินแดนรัฐสันตะปาปาไปเกือบทั้งหมดในช่วงการรวมชาติอิตาลี และท้ายที่สุดใน ค.ศ. 1870 ก็ทรงเสียกรุงโรมให้แก่พวกชาตินิยมอิตาลี กรุงโรมได้รับการสถาปนาเป็นนครหลวงของราชอาณาจักรอิตาลี สันตะปาปาไพอัสที่ 9 ทรงกักบริเวณพระองค์แต่ในพระราชวังวาติกัน และใช้ชีวิตเยี่ยง "นักโทษแห่งวาติกัน" ในทางการเมือง การดำรงตำแหน่งสันตะปาปาของสันตะปาปาไพอัสที่ 9 ดูเป็นเรื่องหายนะ แต่ในทางคริสตจักรแล้วถือว่าพระองค์ทรงประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ทรงจัดให้มีการปฏิรูปและการออกโองการหลายฉบับรวมทั้ง "หลักความถูกต้องดีพร้อมของสันตะปาปา" การต่อสู้ดิ้นร้นของพระองค์ช่วยรักษาบทบาทและพระราชอำนาจของสันตะปาปาให้คงอยู่ต่อไป สันตะปาปาทรงได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศรีใน ค.ศ. 2000

No Thumbnail Available
Publication

องค์ประกอบหลักของลัทธิแทตเชอร์

ชาคริต ชุ่มวัฒนะ, Chakrit Choomwattana, อนันต์ชัย เลาหะพันธุ, Anantjai Lauhabandhu (2015)

ตลอดทศวรรษ 1980 อังกฤษบริหารโดยรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งมีนโยบายลดภาษีเงินได้ ภาวะเงินเฟ้อ และการใช้จ่ายของรัฐ สนับสนุนการค้าและการแข่งขันอย่างเสรี และให้ประชาชนพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ และให้ประเทศเป็นอิสระจากข้อกำหนดต่าง ๆ ของประชาคมยุโรป การที่มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลากว่า 10 ปี จึงทำให้เกิดการประดิษฐ์คำว่า “ลัทธิแทตเชอร์” ตามชื่อสกุลของเธอเมื่อมีการ กล่าวถึงนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงเวลาสิบปีดังกล่าว อย่างไรก็ดี นักวิชาการส่วนมากเห็นว่าลัทธิแทตเชอร์ไม่ใช่อุดมการณ์ หรือแนวคิดบนทฤษฎีใด แต่เป็นแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาลในช่วงนั้นซึ่งเปลี่ยน แปรไปตามสถานการณ์โดยมีองค์ประกอบหลักที่ขาดไม่ได้ คือ บุคลิกภาพ หรือตัวตนของแทตเชอร์ที่เป็นพลัขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแนวแน่ว่าเหมาะสมกับประเทศแม้ผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้เห็นด้วยกับเธอเสมอไป

No Thumbnail Available
Publication

สหรัฐอเมริกาและการล้มเหลวของระบบแบรตตันวู้ด: นัยยะสำคัญต่อประชาคมยุโรปในทศวรรษ 1970

จุฬาพร เอื้อรักสกุล, Julaporn Euarukskul (2015)

ในเดือนสิงหาคม 1971 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันได้ประกาศยุติการแลกดอลลาร์สหรัฐเป็นทองคำ ประกาศนี้ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลที่ตามมาในที่สุดคือ การล้มของระบบแบรตตันวู้ด ซึ่งเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ที่ใช้ทั่วโลกตั้งแต่หลังสงคราม นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐและดอลลาร์ที่อ่อนค่าทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลกแทบทั้งทศวรรษ ประชาคมยุโรปต้องเผชิญวิกฤติจากภายนอกที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร แผนบูรณาการหลายแผนหยุดชะงักและสกุลเงินยุโรปบางสกุลอยู่ในภาวะใกล้ล้ม ในท่ามกลางปัญหายุ่งยากนี้ สมาชิกประชาคมเริ่มต้นแสวงหาความเป็นอิสระทางการเงินและเศรษฐกิจจากสหรัฐ ความพยายามในเบื้องแรกเป็นไปอย่างยากลำบากและประสบผลสำเร็จอย่างจำกัดมากในปลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนี้จะเป็นการวางพื้นฐานสำคัญของโครงการบูรณาการเศรษฐกิจและการเงินยุโรปในเวลาต่อมา ทั้งยังเป็นการปูทางไปสู่ความสำเร็จของสหภาพการเงินและเงินสกุลเดียวของยุโรปในทศวรรษ 1980 และ 1990

No Thumbnail Available
Publication

องค์กษัตริย์ภายใต้อาณัติของพระองค์: การศึกษาอําานาจอธิปไตยและอําานาจการจัดเก็บภาษีในความคิดของฌ็อง โบแด็ง

ชุติเดช เมธีชุติกุล, Chutidech Metheechutikul, จุฑาทิพย์ จันทร์ลุน, Jutatip Chanlun (2019)

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความคิดของนักคิดชาวฝรั่งเศส ฌ็อง โบแด็ง ในเรื่องอำนาจอธิปไตยและอำนาจการจัดเก็บภาษี ด้วยวิธีการศึกษาในบริบทสังคม เศรษฐกิจ ภูมิปัญญา และการเมือง รวมถึงข้อเขียนที่สำคัญของโบแด็ง อิทธิพลทางความคิดของเขาได้มีส่วนสำคัญต่อการก่อกำเนิดแนวคิดว่าด้วยรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะแนวคิดว่าอำนาจอธิปไตย และเป็นส่วนสำคัญในกระแสธารของการถกเถียงทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องอำนาจอธิปไตย รวมถึงแนวคิดเรื่องขันติธรรมทางศาสนา และแนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีขององค์กษัตริย์ต้องได้รับการยินยอมจากประชาชนผ่านสภาก็มีอิทธิพลต่อนักคิดในยุคถัดมา