ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Permanent URI for this collection
Browse
Recent Submissions
เอกภาพทางเชื้อชาติ และแนวทางการสร้างชาติมาเลเซียของตนกูอับดุล ราห์มาน ค.ศ. 1951-1957
ความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวมลายู จีน และอินเดียในมลายา เป็นหนึ่งในผลกระทบทางประวัติศาสตร์จากลัทธิอาณานิคมของอังกฤษและญี่ปุ่น ก่อนที่มลายาจะได้รับเอกราช รัฐบาลอังกฤษต้องการเห็นเอกภาพทางเชื้อชาติเกิดขึ้นในประเทศ ตนกูอับดุล ราห์มาน (1908 - 1990) นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ได้สร้างความร่วมมือกับกลุ่มผู้นำทั้งสามเชื้อชาติภายในสหพรรค (Alliance Party) ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคอัมโน (the United Malays National Organization - UMNO) พรรคเอ็มซีเอ (Malaysian Chinese Association) และพรรคเอ็มไอซี (Malaysian Indian Congress) ตนกูอับดุล ราห์มานมองว่าความร่วมมือเช่นนี้เป็นก้าวแรกที่แก้ไขความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ หลังจากมลายาได้รับเอกราชไปแล้ว บทความนี้มีจุดประสงค์ที่จะหาคำตอบว่า ก่อนที่มลายาจะได้รับเอกราช ตนกูอับดุล ราห์มานสร้างชาติมลายาอย่างไร และมีแนวคิดอย่างไรต่อการสร้างความเป็นเอกภาพทางเชื้อชาติระหว่างชาวมลายู จีน และอินเดีย จากการศึกษาพบว่าก่อนที่สหพรรคจะก่อตั้ง ตนกูอับดุล ราห์มานต้องการมอบสิทธิและผลประโยชน์ให้แก่คนเชื้อชาติมลายูเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามลายาเป็นชาติของชาวมลายูอย่างไรก็ตามหลังจากที่สหพรรคก่อตั้งแล้ว บทบาทของตนกูอับดุล ราห์มานได้เปลี่ยนเป็นผู้นำที่สามารถไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ให้กับคนทุกๆ เชื้อชาติได้ บทบาทดังกล่าวนี้เห็นได้จากแนวคิดที่เขามองว่าการรวมตัวแบบชุมชนนิยมระหว่างพรรคอัมโน เอ็มซีเอ และเอ็มไอซีจะได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และสามารถทำให้อังกฤษประกาศเอกราชแก่มลายาได้การศึกษาในหัวข้อนี้จึงมีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจว่า ในขณะที่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติยังคงดำรงอยู่ในมลายา ตนกูอับดุล ราห์มานจะสามารถสร้างความเป็นเอกภาพทางเชื้อชาติได้จริงหรือไม่ หลังจากที่มลายาได้รับเอกราชไปแล้วใน ค.ศ. 1957
ศึกชิง "กัมพูชา" และ "ฮาเตียน" ระหว่างราชสำนักสยามและตระกูลเหงวียน ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ของบรรดารัฐจารีตบนแผ่นดินใหญ่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาใน ค.ศ. 1767 ก่อเกิดสภาวะ "สุญญากาศ" ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ห้วงเวลานั้นเองที่พระยาตาก (สิน) รวบรวมผู้คนทางภาคตะวันออกของสยาม ขับไล่กองทัพอังวะและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ หนึ่งในนโยบายฟื้นฟูราชอาณาจักรสยามของพระเจ้าตากสิน คือขยายอำนาจไปทางทิศตะวันออกในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือประเทศกัมพูชาและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ผลคือการเผชิญหน้ากับอ๋องตระกูลเหงวียน (Nguyen) ที่ขยายอิทธิพลมายังพื้นที่ดังกล่าว ในระยะการเผชิญหน้านั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย อ๋องตระกูลเหงวียนเผชิญกับขบวนการเติยเซินทำให้นโยบายขยายอิทธิพลที่กำลังขับเคี่ยวกับสยามเปลี่ยนไป ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยและเวียดนามกล่าวถึงเรื่องนี้จากมุมมองของตนเป็นหลัก งานศึกษาเรื่องนี้ในลักษณะเปรียบเทียบหลักฐานไทยกับเวียดนามยังมีจำนวนน้อย งานวิจัยชิ้นนี้ใช้หลักฐานเวียดนามที่ยังไม่ค่อยถูกนำมาอ้างอิงคือ บันทึกความจริงแห่งราชอาณาจักรด่ายนาม บันทึกตระกูลหมัก บันทึกแห่งซาดิ่งห์ ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นต้นภาษาเวียดนามร่วมสมัยกับเหตุการณ์ โดยประเด็นหลักในการศึกษา ได้แก่ ประการแรก เหตุใดสยามและตระกูลเหงวียนจึงพยายามขยายอิทธิพลของตนเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ประการที่สอง หลักฐานเวียดนามรับรู้และมีมุมมองต่อการที่สยามรุกเข้าไปในเขตปากแม่น้ำโขงอย่างไร นอกจากนี้ยังพยายามเชื่อมร้อยและต่อภาพที่สมบูรณ์ของศึกครั้งนี้จากหลักฐานที่เกี่ยวข้องในหลายภาษา
เส้นแบ่งอัตลักษณ์ในอินโดนีเซีย: ความเกลียดชัง "คนอื่น" ในแคมเปญต่อต้านอาฮก
บรรยากาศการเมืองในยุคหลังระเบียบใหม่และนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซียที่มุ่งเน้นการปฏิสัมพันธ์กับจีน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซียและการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างชาวจีนอินโดนีเซียและจีน ชาวจีนอินโดนีเซียที่เคยถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นจีนในยุคระเบียบใหม่นั้น ปัจจุบันนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและรื้อฟื้นวัฒนธรรมโดยเฉพาะภาษาจีนตอบรับการผงาดขึ้นของจีนและโอกาสทางเศรษฐกิจของปัจเจกชน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ความรุนแรงต่อต้านชาวจีนในอินโดนีเซียแล้วนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขุ่นเคืองต่อกลุ่มชาวจีนอินโดนีเซียยังคงมีอยู่ในสังคม ชาวจีนอินโดนีเซียยังคงถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนชั้นที่กุมอำนาจเศรษฐกิจและเป็นคนนอกศาสนาอิสลาม (Infidel) ความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนอินโดนีเซียและชาวอินโดนีเซียยังคงถูกท้าทายจากความรุนแรงและตึงเครียดทางชาติพันธุ์ศาสนาอยู่หลายเหตุการณ์ อันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมพหุวัฒนธรรมของอินโดนีเซียในยุคปฏิรูปนี้ยังคงมีความเปราะบาง งานชิ้นนี้ถกเถียงถึงมรดกตกค้างจากยุคซูฮาร์โตไม่ว่าจะเป็นอิสลามนิยมความรุนแรง ความเกลียดชังจีน ความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ใหม่ และความเกลียดชังชาวจีนอินโดนีเซียที่ถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนในแคมเปญต่อต้านอาฮกในปี 2016-2017
สำรวจงานศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่มีต่อการเมือง สปป.ลาว ระหว่าง ค.ศ.1992-2016
บทความนี้ต้องการสำรวจ และทบทวนงานศึกษาที่เกี่ยวกับบทบาทของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่มีต่อการเมืองของ สปป.ลาว ระหว่าง ค.ศ.1992-2016 เพื่อค้นหาประเด็นที่มีการศึกษาก่อนหน้านี้โดยอาศัยการวิเคราะห์ตัวบทของงานศึกษาเหล่านั้น อันจะเป็นพื้นฐานให้แก่การศึกษาเรื่องบทบาทของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่มีต่อการเมืองของ สปป.ลาวระหว่าง ค.ศ.1992-2016 จากการศึกษาพบว่างานศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของพรรคฯ ระหว่าง ค.ศ.1992-2016 แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม ได้แก่ 1.งานศึกษาช่วงระหว่าง ค.ศ.1992-2006 งานศึกษาในช่วงนี้มักให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองภายในพรรคฯ การปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้กรอบนโยบายจินตนาการใหม่และการปรับแนวคิดการสร้างชาติที่สัมพันธ์การฟื้นฟูวัฒนธรรมและ 2.งานศึกษาระหว่าง ค.ศ.2006-2016งานศึกษาในช่วงนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจสู่กลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภายในพรรคฯการรับอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจจากจีน และการสร้างแหล่งความทรงจำที่สืบเนื่องจากแนวคิดการสร้างชาติในช่วง ค.ศ.1992-2006