การแปลภาษาญี่ปุ่น
Permanent URI for this collection
Browse
Recent Submissions
ปัญหาการล่ามภาษาญี่ปุ่นเฉพาะทางในสายงานอุตสาหกรรมผ่านการวิเคราะห์เชิงภาษาศาสตร์: กรณีศึกษาการล่ามในสถานการณ์จำลองสายงานอุตสาหกรรม
จากปัญหาการฝึกงานและการทำงานในสายงานอุตสาหกรรมพบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาการไม่รู้คำศัพท์เฉพาะทาง ทั้งนี้ยังขาดข้อมูลว่านอกเหนือจากการไม่รู้คำศัพท์เฉพาะทางแล้ว ลักษณะภาษาที่ใช้ในสายงานเฉพาะทางใดก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการล่ามภาษาญี่ปุ่นเฉพาะทางในสายงานอุตสาหกรรมโดยการวิเคราะห์ผ่านทฤษฎีภาษาศาสตร์ รูปแบบการวิจัยคือการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการสังเกตการล่ามในสถานการณ์จำลองแบบไม่มีส่วนร่วม กลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นจำนวน 5 คนที่ลงเรียนรายวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพภาษาญี่ปุ่น บทสนทนาในสถานการณ์จำลองจำนวนทั้งหมด 26 บทสนทนา เป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์การทำงานต่าง ๆ ผลการศึกษาพบปัญหาการล่ามภาษาญี่ปุ่นเฉพาะทางในประเด็นที่ครอบคลุมประเด็นภาษาศาสตร์ (1) สัทศาสตร์และสัทวิทยา (2) ระบบหน่วยคำและการสร้างคำ (3) อรรถศาสตร์ (4) วากยสัมพันธ์ และ (5) วัจนปฏิบัติศาสตร์
การเผยแพร่และการเข้าถึงข้อมูลบริการสาธารณะของชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศญี่ปุ่นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19: บทวิเคราะห์และกระบวนการปฏิบัติเพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
บทความนี้ศึกษานโยบาย ช่องทางและรูปแบบการเผยแพร่ข้อมูลบริการสาธารณะ รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพของชาวไทยและชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผลสำรวจพบว่า รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ 5 ช่องทางหลักในการเผยแพร่ข้อมูลบริการสาธารณะและความปลอดภัยด้านสุขภาพแก่พลเมืองชาวต่างชาติ ได้แก่ เว็บไซต์ สื่อโซเชียลมีเดีย คู่มือสำหรับชาวต่างชาติ ศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ชาวต่างชาติ และล่ามทางโทรศัพท์ ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวไทยจำนวน 179 คน ที่พำนักในญี่ปุ่นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของช่องทางการสื่อสารเหล่านี้ ผลการวิจัยพบว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดนโยบายส่งเสริมให้มีการแปลข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาต่างประเทศ การใช้ภาษาญี่ปุ่นแบบง่าย และใช้โปรแกรมแปลภาษาอัตโนมัติ โดยหน่วยงานท้องถิ่นได้ปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางดังกล่าวในการเผยแพร่ข้อมูลด้านบริการสาธารณะและความปลอดภัย เกี่ยวกับช่องทางการบริการและสื่อสาร ชาวไทยในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้รับข่าวสารจากคู่มือสำหรับชาวต่างชาติ เว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ และสื่อโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ แม้คนไทยในญี่ปุ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลบริการสาธารณะทั่วไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ร้อยละ 31.4 ไม่เคยได้รับข้อมูล เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นภาษาญี่ปุ่น โดยมีเพียงประมาณร้อยละ 50 ที่เข้าใจข้อมูลซึ่งเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น และประมาณร้อยละ 64-65 ที่เข้าใจข้อมูลซึ่งจัดทำด้วยภาษาญี่ปุ่นแบบง่ายและฉบับแปลเป็นภาษาไทย การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับบริการสาธารณะและการดูแลสุขภาพอย่างรวดเร็วและเข้าใจง่ายเป็นสิ่งจำเป็นต่อความปลอดภัยของบุคคลและชุมชนในช่วงที่มีโรคแพร่ระบาด บทความนี้ได้สรุปข้อเสนอแนะเพื่อให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐปรับปรุงช่องทางการสื่อสารสาธารณะและข้อมูลที่จัดทำให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น
ความสามารถในการแปลความหมายระดับข้อความของ Google Translate ระบบ Neural Machine Translation จากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการแปลความหมายระดับข้อความของแอปพลิเคชัน Google Translate ระบบ Neural Machine Translation รายการภาษาความหมายระดับข้อความประกอบไปด้วยคำประสมคำนามและคำประสมคำกริยา จำนวน 136 คำ คำปรากฏร่วมประเภท คำนาม+คำกริยา จำนวน 100 คำ สำนวนที่มีคำนามอวัยวะเป็นส่วนประกอบ จำนวน 100 สำนวน และประโยคที่ประกอบจากรูปไวยากรณ์ระดับ N4 จำนวน 100 ประโยค รวมทั้งหมด 436 รายการ โดยแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย สำรวจระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2561 และตรวจสอบความสามารถการแปลโดยผู้เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย จำนวน 3 คน ผลการวิจัยพบว่า Google Translate ระบบ Neural Machine Translation แปลความหมายจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยอยู่ในระดับ ไม่เป็นที่ยอมรับคิดเป็นร้อยละ 73.39 และแปลความหมายจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยอยู่ในระดับเป็นที่ยอมรับคิดเป็นร้อยละ 26.61 โดยรายการภาษาที่ Google Translate ระบบ Neural Machine Translation สามารถแปลได้ในระดับยอมรับได้มากที่สุดเรียงจากมากไปหาน้อยได้แก่ คำปรากฏร่วม คำประสมคำนาม คำประสมคำกริยา ประโยค และสำนวน ตามลำดับ
กลวิธีการแปลอนุพากย์จากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการแปลอนุพากย์จากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากวรรณกรรมภาษาญี่ปุ่นและฉบับแปลเป็นภาษาไทย เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของประโยคในต้นฉบับและบทแปล อาจแบ่งออกได้เป็น 1.การแปลโดยใช้โครงสร้างตามต้นฉบับ กล่าวคือ โครงสร้าง “อนุพากย์เชื่อมความ+อนุพากย์หลัก” (หรือสลับลำดับ) โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทย่อย คือ ก.กรณีไม่ใช้คำเชื่อม เนื่องจากความหมายของอนุพากย์ชัดเจน แม้ไม่ใช้คำเชื่อม ผู้อ่านก็น่าจะทำความเข้าใจความหมายได้ไม่ยาก พบมากในการแปลอนุพากย์เชื่อมความ แสดงเหตุการณ์ต่อเนื่อง และสาเหตุ เหตุผล และ ข.กรณีใช้คำเชื่อม ผู้แปลมีแนวโน้มใช้คำเชื่อมที่แสดงความหมายสอดคล้องกับประเภทความหมายของอนุพากย์ (เช่น อนุพากย์แสดงเหตุการณ์ต่อเนื่อง ใช้คำเชื่อมแสดง “ลำดับ”) เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้แปลมีการใช้คำเชื่อมค่อนข้างหลากหลายมาก อีกทั้งยังพบว่าคำเชื่อมบางคำมีวิธีการใช้ที่มีลักษณะเฉพาะตัว (เช่น คำเชื่อมแสดงสาเหตุ “เพราะ” ไม่นิยมวางไว้ต้นประโยค) 2. การแปลโดยใช้รูปแบบประโยคเดี่ยว พบการใช้โครงสร้างกริยาเรียง การใช้กริยาเรียงโดยมีคำเชื่อมระหว่างคำกริยา การปรับสำนวน และปรับโครงสร้างประโยค
การวิเคราะห์เปรียบเทียบและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ สำนวนคันจิประสม 4 ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นกับสำนวนคำประสมสี่จังหวะภาษาไทย
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบสำนวนคันจิประสม 4 ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นและสำนวนคำประสมสี่จังหวะภาษาไทย ด้านโครงสร้าง ความหมาย โลกทัศน์และเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้สำนวนคันจิประสม 4 ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นผ่านบทเรียนออนไลน์และศึกษาผลการใช้บทเรียน การวิจัยนี้เป็นการวิจัยประยุกต์ ใช้ระเบียบวิธีวิเคราะห์เอกสารและการวิจัยกึ่งการทดลอง การสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลและสังเคราะห์ทั้งที่เป็นเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ หลังจากนั้นนำผลการวิจัยที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเป็นบทเรียนออนไลน์ ศึกษาผลการใช้บทเรียนที่สร้างขึ้นจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติค่าร้อยละค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้สูตร t-test dependent ผลการวิจัยพบว่า โครงสร้างของสำนวนจำแนกความเหมือนและความต่างได้เป็น 3 กลุ่ม คือ (1)กลุ่มที่อักษรคันจิทั้ง 4 ตัวแตกต่างกันทุกตัวและคำทั้งสี่คำแตกต่างกันทุกคำ (2)กลุ่มที่อักษรคันจิตัวใดตัวหนึ่งซ้ำกัน และคำใดคำหนึ่งซ้ำกัน (3)กลุ่มที่มีอักษรคันจิตัวใดตัวหนึ่งตรงข้ามกัน และมีคำใดคำหนึ่งตรงข้ามกัน ทั้งนี้ ไม่พบลักษณะโครงสร้างของสำนวนคันจิประสม 4 ตัวในรูปแบบของสำนวนคำประสมสี่จังหวะภาษาไทยที่มีคำมากกว่าสี่คำหรือสี่พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค ความสัมพันธ์ทางด้านความหมายของอักษรคันจิทั้งสี่ตัวและคำทั้งสี่คำในสำนวน แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ (1)อักษรคันจิทั้งสี่ตัวมีความหมายสอดคล้องกัน และคำทั้งสี่คำมีความหมายสอดคล้องกัน (2)อักษรคันจิมีความหมายตรงข้ามกันและคำมีความหมายตรงข้ามกัน และ (3)อักษรคันจิที่มีทั้งความหมายเหมือนกันและตรงข้ามกัน โลกทัศน์ที่สะท้อนจากสำนวนมีทั้งความคล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ได้แก่ โลกทัศน์เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของคน โลกทัศน์เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ โลกทัศน์เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ โลกทัศน์เกี่ยวกับศิลปวิทยาการและความศรัทธา โลกทัศน์เกี่ยวกับสังคมและการติดต่อสื่อสาร และโลกทัศน์เกี่ยวกับเวลา ธรรมชาติ และสภาพการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ บทเรียนออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นมีคุณภาพอยู่ในระดับดี ผลสัมฤทธิ์การเรียนของกลุ่มตัวอย่างที่เรียนผ่านบทเรียนออนไลน์หลังการเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05