การแปลภาษาฝรั่งเศส

Permanent URI for this collection

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 5 of 53
No Thumbnail Available
Publication

บทแปลเรื่อง “ความลับของรสชาติ”ของซิริล ลิญัก (บทที่ 1-6) พร้อมบทวิเคราะห์

สมทิพย์ จรูญภิญโญสวัสดิ์, Chaloonpinyosawat, Somthip (2022)

วิทยานิพนธ์เล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอบทแปลและบทวิเคราะห์สารคดีอัตชีวประวัติเรื่อง รสชาติเล่าเรื่อง (Histoires de goûts) เขียนโดยซีรีล ลีญัก เชฟผู้มีชื่อเสียงทั้งด้านอาหารคาวและอาหารหวาน ร่วมกับแอลวีร์ ฟอน บาร์เดเลเบน นักเขียนข่าวแฟชั่นและอาหารแห่งสำนักพิมพ์ชื่อดังของฝรั่งเศส ทั้งสองร่วมกันเขียนบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่เด็กถึงปัจจุบันของซีรีล ลีญักที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ในการแปลสารคดีอัตชีวประวัติเรื่องดังกล่าว ผู้แปลยึดหลักการแปลตามทฤษฎีการแปลแบบยึดความหมายของสถาบันชั้นสูงด้านการล่ามและการแปลแห่งมหาวิทยาลัยปารีส III (École Supérieure d’Interprètes et de Traducteurs หรือ ESIT) ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการสำคัญสามขั้นตอน คือ ขั้นตอนการทำความเข้าใจต้นฉบับ ขั้นตอนการผละออกจากต้นฉบับ และขั้นตอนถ่ายทอดความหมายสู่ภาษาปลายทาง โดยยังคงรักษาอรรถรสของงานประพันธ์ให้เทียบเท่าต้นฉบับ สำหรับวิทยานิพนธ์เล่มนี้ผู้แปลได้แบ่งออกเป็นสองภาค ได้แก่ ภาคที่หนึ่งบทแปลเรื่องรสชาติเล่าเรื่อง (Histoires de goûts) หน้า 7-56 โดยยึดหลักการแปลตามทฤษฎีของ ESIT ภาคที่สองบทวิเคราะห์ทั้งระดับความเข้าใจและระดับการถ่ายทอด โดยกล่าวถึงการวิเคราะห์กลวิธีการเขียนและเทคนิคการเล่าเรื่อง ความรู้เสริมที่สำคัญต่อการแปล รวมถึงการถ่ายทอดสู่บทแปลจนกระทั่งสัมฤทธิ์ผลเป็นวิทยานิพนธ์ที่สมบูรณ์

No Thumbnail Available
Publication

การศึกษาการแปลวิเศษณานุประโยคแบบโครงสร้างในภาษาฝรั่งเศสด้วยเครื่องมือแปลภาษา Google Translate

ป้อมเพชร ตาณังกร, สัญชัย สุลักษณานนท์, Thanangkorn, Pompet, Suluksananon, Sanchai (2022)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแปลวิเศษณานุประโยคแสดงความหมายด้วยโครงสร้างในภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาไทยผ่านเครื่องมือแปลภาษา Google Translate ฐานข้อมูลที่ใช้ในการศึกษารวบรวมมาจากหนังสือไวยากรณ์ภาษาฝรั่งเศสจํานวน 347 ประโยคจากหนังสือ 13 เล่มประกอบด้วยวิเศษณานุประโยคแบบโครงสร้างแสดงความหมายของเวลา (temps) สาเหตุ (cause) ความขัดแย้ง (opposition) เงื่อนไขหรือการสมมติ (condition ou hypothèse) วัตถุประสงค์ (but) และวิธีการหรือท่าทาง (moyen ou manière) จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า Google Translate แปลวิเศษณานุประโยคเป็นภาษาไทยโดยใส่คําเชื่อมหรือคําบุพบท (ร้อยละ 58.79) และไม่ใส่คําเชื่อม (ร้อยละ 41.21) และบ่อยครั้งที่ให้ความหมายไม่ตรงกับภาษาต้นทาง ส่วนกรณีที่ไม่ใส่คําเชื่อมหรือคําบุพบทมักจะมีลักษณะเป็นการแปลในลักษณะคําต่อคำ

No Thumbnail Available
Publication

บทแปลเรื่องสั้นคัดสรรจากรวมเรื่องสั้น นิทานวันจันทร์ (Contes du lundi) ของอาลฟงส์ โดเด พร้อมบทวิเคราะห์

มุกตารี มุเส็มสะเดา, Musemsadao, Muktaree (2022)

ใน ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา นับเป็นวาระครบรอบ 150 ปี สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ผู้แปลเลือกสรรเรื่องสั้นที่มีพื้นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับสงครามครั้งนี้จากหนังสือ Contes du lundi ประพันธ์โดยอาลฟงส์ โดเดมาจัดทำวิทยานิพนธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกฝนการแปลโดยใช้ทฤษฎีการแปลแบบยึดความหมายของสถาบันชั้นสูงด้านการล่ามและการแปลแห่งกรุงปารีส (E.S.I.T) อีกทั้งเพื่อทบทวนเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 วิทยานิพนธ์เล่มนี้แบ่งออกเป็นสองภาค ภาคหนึ่งประกอบด้วยบทแปลเรื่องสั้นคัดสรร 8 เรื่อง ได้แก่ “บทเรียนอำลาครูอาแมล” (La dernière classe ) “เด็กชายสายลับ” (L’enfant espion) “แม่” (Les mères) “ล้อมเบอร์ลิน” (Le siège de Berlin) “วีรกรรมของเบลีแซร์” (Le Prussien de Bélisaire) “เรือข้ามฟาก” (Le bac) “พลธง” (Le porte-drapeau) และ “ความตายของโชแว็ง” (La mort de Chauvin) ภาคสองคือบทวิเคราะห์ ประกอบด้วยการทำความเข้าใจต้นฉบับและการถ่ายทอดความหมายสู่บทแปล ในภาคนี้แบ่งออกเป็น 5 บท ได้แก่ บทที่ 1 ลักษณะของต้นฉบับและงานประพันธ์ของอาลฟงส์ โดเด บทที่ 2 องค์ประกอบในการเล่าเรื่อง บทที่ 3 เทคนิคในการเล่าเรื่อง บทที่ 4 ความรู้เสริม และ บทที่ 5 การถ่ายทอดความหมายสู่บทแปล

No Thumbnail Available
Publication

การทับศัพท์ภาษาไทยในภาษาฝรั่งเศส: กรณีศึกษาการทับศัพท์ในรายการอาหารและวรรณกรรมแปล

ธีระ รุ่งธีระ, Roungtheera, Theera (2022)

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้รูปอักษรโรมันแทนหน่วยเสียงพยัญชนะและหน่วยเสียงสระภาษาไทยที่ใช้จริงในเอกสารภาษาฝรั่งเศส พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน โดยเก็บข้อมูลจากรายการอาหารจากร้านอาหารไทยในประเทศฝรั่งเศสจำนวน 15 ร้านและจากวรรณกรรมไทยที่แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสจำนวน 4 เรื่อง จากการศึกษาพบว่าการทับศัพท์ภาษาไทยในภาษาฝรั่งเศสมีความหลากหลายและไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน มีการทับศัพท์ 4 วิธี ได้แก่ การถอดอักษร การถ่ายเสียง การถอดตามอักขรวิธีภาษาอังกฤษ และการถอดตามอักขรวิธีภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังพบว่ารูปแบบงานเขียนที่แตกต่างกันมีผลต่อการทับศัพท์ กล่าวคือรูปแบบงานเขียนที่มีลักษณะเป็นทางการจะมีการทับศัพท์ที่เป็นระบบมากกว่ารูปแบบงานเขียนที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ

No Thumbnail Available
Publication

บทแปลเรื่อง "คุยกับลูกสาวเรื่องเหยียดเชื้อชาติ" ของตาฮาร์ เบน เจลลูน พร้อมบทวิเคราะห์

ผไทมาศ สุนทรวร, Soontornworn, Pathaimas (2022)

วิทยานิพนธ์นี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอบทแปลเรื่อง คุยกับลูกสาวเรื่องเหยียดเชื้อชาติ (Le racisme expliqué à ma fille) ของตาฮาร์ เบน เจลลูน พร้อมบทวิเคราะห์ ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างพ่อลูกคุยกันเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในหลายแง่มุมไม่ว่าจะเป็นที่มา รูปแบบ ลักษณะของการเหยียดเชื้อชาติบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมนี้และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดและอคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งผู้แต่งได้อธิบายแต่ละหัวข้อไว้อย่างเข้าใจง่าย เพราะกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านคือนักอ่านวัย 8-15 ปี ทั้งนี้ผู้แต่งปรารถนาให้ผู้ปกครองได้อ่านด้วย เพื่อที่ทุกคนได้ช่วยกันแก้ไข กำจัดแนวคิดและพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติให้สิ้นไป สำหรับการแปลบทสนทนาเรื่องนี้ ผู้แปลเลือกใช้หลักของทฤษฎีการแปลแบบยึดความหมาย (Théorie interprétative de la traduction) ของสถาบันชั้นสูงด้านการล่ามและการแปล (École Supérieure d’Interprètes et de Traducteurs หรือ E.S.I.T) แห่งกรุงปารีส ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวแบ่งออกเป็นสามขั้นตอนได้แก่ การทำความเข้าใจต้นฉบับ การผละออกจากต้นฉบับ และการถ่ายทอดความหมายสู่บทแปล ผู้แปลต้องแปลสารจากต้นฉบับให้ครบถ้วนสมบูรณ์ คงลีลาการเขียนและผลกระทบทางอารมณ์ให้ทัดเทียมกับต้นฉบับ เพื่อให้ผู้อ่านบทแปลได้รับข้อมูลและความรู้สึกเทียบเท่ากับผู้อ่านต้นฉบับ วิทยานิพนธ์นี้แบ่งออกเป็นสองภาคได้แก่ ภาคที่หนึ่ง ต้นฉบับและบทแปล ผู้แปลเลือกแปลต้นฉบับ Le racisme expliqué à ma fille ฉบับ ค.ศ. 2018 เฉพาะบทนำ (Introduction) บทสนทนา (Dialogue) และบทสรุป (Conclusion) ส่วนภาคที่สองคือ ภาควิเคราะห์ ผู้แปลค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดที่ผู้เขียนพูดถึงในต้นฉบับ เช่น บุคคล สถานที่ เหตุการณ์ต่าง ๆ ศัพท์เฉพาะทางมานุษยวิทยา ศัพท์ที่ใช้อย่างมีนัยยะเหยียดเชื้อชาติซึ่งเป็นส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ เพื่อช่วยให้ผู้แปลได้เข้าใจสารและอารมณ์ที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้ได้มากที่สุด ถ่ายทอดบทแปลได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ และคงไว้ซึ่งผลกระทบทางอารมณ์ไปยังผู้อ่านภาษาปลายทางอีกด้วย