วัฒนธรรมจีน
Permanent URI for this collection
Browse
Recent Submissions
แรงกดดันของเยาวชนจีนที่แสดงผ่านภาพยนตร์ เรื่อง Better Days
บทความวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแรงกดดันของเยาวชนจีนที่แสดงผ่านภาพยนตร์เรื่อง Better Days และศึกษาปัจจัยและสาเหตุของแรงกดดันของเยาวชนจีนที่ปรากฏผ่านภาพยนตร์เรื่อง Better Days ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้สังคมจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว และเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อบันเทิงของจีนมากนัก เนื่องมาจากกฎหมายควบคุมเนื้อหาสื่อและการคำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศของรัฐบาลจีน งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพโดยวิเคราะห์จากเนื้อหาในภาพยนตร์และบทสนทนาของตัวละคร ผลการศึกษาพบว่า ภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันที่เยาวชนจีนต้องเผชิญ ได้แก่ 1) การกลั่นแกล้งในสถานศึกษา 2) ความกดดันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 3) ช่องว่างระหว่างอายุของคนต่างวัย 4) การล่มสลายของสถาบันครอบครัว และ 5) ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางสังคม และการแข่งขันเพื่อต้องการยกระดับความเป็นอยู่ในชีวิต โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม
ประวัติศาสตร์จีนปลายราชวงศ์ชิงจากภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส
บทความนี้มุ่งศึกษาประวัติศาสตร์จีนในช่วงปลายราชวงศ์ชิงจากภาพข่าวที่ ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1891 - 1911 คําถามการวิจัยคือ หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสสะท้อนมุมมองจากภาพข่าว เกี่ยวกับเนื้อหาประวัติศาสตร์จีนอย่างไร ผู้เขียนตั้งสมมุติฐานการศึกษาว่า หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสมุ่งเสนอมุมมองไป ที่ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฝรั่งเศส และประวัติความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับมหาอํานาจักรวรรดินิยมการศึกษานี้ใช้วิธีการวิจัยทางประวัติศาสตร์เป็นหลัก โดยรวบรวมเอกสารชั้นต้น วิเคราะห์เนื้อหา ประวัติศาสตร์จีน และรับรู้มุมมองของฝรั่งเศสจากหนังสือรวมภาพข่าวเรื่อง ประวัติศาสตร์จีนที่หล่นหายในตะวันตก: ประวัติศำสตร์จีนสมัยปลายราชวงศ์ชิง ค.ศ. 1891 - 1911 จากการบันทึกของหนังสือสือพิมพ์ฝรั่งเศส เลอ เปอติ ฌูร์นำล (《遗失在西方的中国史:法国〈小日报〉记录的晚晴 1891 - 1911》) ผลการวิจัยพบว่า มีภาพข่าวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนสมัยปลายราชวงศ์ชิงจํานวนทั้งสิ้น 112 ภาพ เนื้อหาของภาพข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่ง ภาพข่าวประวัติ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับมหาอํานาจจักรวรรดินิยม จํานวน 64 ภาพจากมุมมองของนักข่าวฝรั่งเศส ภาพข่าว เหล่านี้สะท้อนเหตุการณ์สงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นครั้งที่ 1 การจลาจลของนักมวยอี้เหอถวน การบุกจีนของ กองทัพพันธมิตรแปดชาติ สงครามระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น กลุ่มที่สอง ภาพข่าวประวัติความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับ ฝรั่งเศส แม้ว่าภาพข่าวเหล่านี้มาจากหนังสือพิมพ์สัญชาติฝรั่งเศส แต่กลับนําเสนอเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องเฉพาะจีน กับฝรั่งเศสเพียง 26 ภาพเท่านั้น ซึ่งได้เล่าเหตุการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างจีนกับฝรั่งเศสในสมัยปลาย ราชวงศ์ชิง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังพบเนื้อหาภาพข่าวกลุ่มที่สามซึ่งอยู่นอกเหนือสมมุติฐาน กล่าวคือ ภาพข่าว ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเฉพาะประเทศจีน จํานวน 22 ภาพ ส่วนใหญ่นําเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการปฏิวัติ และภัยพิบัติในประเทศจีน ตลอดจนนําเสนอภาพบุคคลสําคัญทางประวัติศาสตร์ในราชสํานักชิง ในภาพรวม ผู้เขียนพบว่า ภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสสะท้อนมุมมองว่า จีนเป็นผู้จุดชนวนความขัดแย้งกับต่างชาติ และยังเป็นผู้ที่ทําให้เหตุปะทะทวีความรุนแรงมากขึ้น ภาพข่าวเหล่านี้จึงนําเสนอและให้ความสําคัญว่าฝรั่งเศสและ มหาอํานาจจักรวรรดินิยมเป็นฝ่ายที่ถูกกระทํา จึงจําเป็นต้องใช้กําลังเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตน
รายการเรียลลิตี้จีนชุด “My Dearest Ladies”: ภาพสะท้อนค่านิยมความสัมพันธ์ระหว่างแม่สามี ลูกชาย และลูกสะใภ้ ในครอบครัวชาวจีนยุคปัจจุบัน
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างแม่สามี ลูกชาย และลูกสะใภ้ ที่สะท้อนผ่านรายการเรียลลิตี้จีนชุด “My Dearest Ladies” (ชื่อภาษาจีน 我最爱的女人们 และ 婆婆和妈妈) รวมถึงประเด็นอื่นที่น่าสนใจ เช่น ลักษณะของแม่สามี การนำเสนอค่านิยมที่ดีให้กับสังคมจีน การคัดเลือกผู้เข้าร่วมรายการ และพัฒนาการของรายการ ผลการศึกษาจากครอบครัว 13 ครอบครัวที่ปรากฏในรายการทั้ง 3 ซีซั่น พบว่าแต่ละครอบครัวมีลักษณะความสัมพันธ์ของสามี ลูกชาย และลูกสะใภ้ที่แตกต่างกัน บางครอบครัวแม่สามีเป็นใหญ่ บางครอบครัวลูกชายเป็นใหญ่ บางครอบครัวลูกสะใภ้เป็นใหญ่ ซึ่งทุกครอบครัวจะมีผู้รับบทบาทเป็นคนกลางเพื่อประนีประนอมและไกล่เกลี่ยความสัมพันธ์ในครอบครัว สำหรับครอบครัวที่ลูกเขยแต่งเข้าบ้านภรรยาและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับแม่ภรรยาจะปรากฏความขัดแย้งน้อยกว่าครอบครัวที่ลูกสะใภ้ ใช้ชีวิตร่วมกับแม่สามี แม่สามีที่ปรากฏในรายการส่วนมากมีลักษณะของ “แม่สามีที่ดี” ได้แก่ จิตใจดี อารมณ์ดี มีเมตตา ยอมรับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ มีเหตุผล เคารพผู้อื่น เป็นต้น ประเด็นแฝงที่น่าสนใจ ได้แก่ รายการได้นำเสนอค่านิยมที่ดีให้กับสังคมจีนในด้านการดูแล เอาใจใส่สุขภาพของพ่อแม่ผู้สูงอายุในครอบครัว แม่สามีสนับสนุนให้ลูกชายดูแลลูกสะใภ้ ลูกสะใภ้มีความแตกต่างจากค่านิยมเดิมของจีนได้ เช่น ลูกสะใภ้มีอายุมากกว่าลูกชาย ลูกสะใภ้เคยแต่งงานหรือเคยมีลูกมาแล้ว และลูกเขยสามารถแต่งงานเข้าไปอยู่ร่วมกับครอบครัวของภรรยาได้ นอกจากนั้น ยังมีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมรายการที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่รายการยังคงเน้นย้ำให้อยู่ภายใต้นโยบายจีนเดียว รวมถึงพัฒนาการของรายการทั้ง 3 ซีซั่น ที่มีรูปแบบเปลี่ยนไปเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด 19 และ การนำเสนอประเด็นที่หลากหลายกว่าซีซั่นแรก
“บุคคลผู้ควรค่าแก่การยกย่องที่สุดยุคใหม่”: การสร้างภาพแทนฮีโร่ในสังคมจีนยุควิกฤตโควิด-19
“ฮีโร่” มิใช่เพียงผู้พิทักษ์ที่มากด้วยพละกำลังมหาศาล หรือเป็นวีรชน ผู้สละชีวิตเพื่อกอบกู้บ้านเมืองในยามสงครามตามที่มีการผลิตซ้ำเท่านั้น หากแต่ “ฮีโร่” ยังสามารถเป็นบุคคลธรรมดาที่อุทิศตน เสียสละเพื่อส่วนรวมได้เช่นกัน บทความนี้มุ่งวิเคราะห์และนำเสนอการสร้างภาพแทนของ “ฮีโร่” หรือวีรชนในสังคมจีนท่ามกลางวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ผ่านการศึกษาข้อมูลจากบทสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง การศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม รวมถึงการผลิตซ้ำของสื่อที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาด ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การขยายขอบเขตนิยามของ “ฮีโร่” มีจุดเริ่มต้นจากสโลแกนของรัฐบาลจีนที่ว่า “บุคคลผู้ควรค่าแก่การยกย่องที่สุดยุคใหม่” ซึ่งสื่อความถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จิตอาสา ผู้อุทิศตนเพื่อดูแลผู้ป่วยและช่วยเหลือผู้อื่นในยามวิกฤตทุกข์ยาก ขณะเดียวกัน “ฮีโร่” ยังหมายรวมถึงประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตนตามแนวปฏิบัติของทางภาครัฐ พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้อื่นในยามที่สังคมกำลังประสบวิกฤต ปัจจัยดังกล่าวได้กลายเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ทำให้ประเทศจีนสามารถฝ่าวิกฤตและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในเวลาอันสั้น
ภาพลักษณ์ของสตรีจีนยุคใหม่วัยสามสิบที่สะท้อนผ่านละครโทรทัศน์เรื่อง “ซานสือเอ๋อร์อี่”
ละครโทรทัศน์เรื่อง “ซานสือเอ๋อร์อี่”《三十而已》มีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงสาววัยสามสิบ 3 คนที่มีสถานภาพแตกต่างกัน ทั้งสามเป็นเพื่อนรักกันและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในใจกลางมหานครเซี่ยงไฮ้ “ซานสือเอ๋อร์อี่” เป็นละครที่อยู่ในกระแสนิยม มีเรตติ้งรับชมสูงในปี ค.ศ.2020 และมีการสะท้อนภาพลักษณ์ของสตรีจีนยุคใหม่วัยสามสิบที่มีความเปลี่ยนไปจากในอดีต ผู้วิจัยแบ่งตัวละครสตรีในละครโทรทัศน์ดังกล่าว 3 ลักษณะ คือ A. สตรีที่แต่งงานและมีบุตรแล้ว B. สตรีที่แต่งงานแล้วและไม่มีบุตร C. สตรีที่ไม่แต่งงาน โดย A. สตรีที่แต่งงานและมีบุตรแล้ว มีภาพลักษณ์ที่สะท้อนจากละครเรื่องนี้ คือ 1. ถูกคาดหวังและมีความกดดันจากตัวเอง ครอบครัวและสังคมสูง 2. นอกจากสามีและลูกแล้ว ก็ยังต้องดูแลพ่อแม่ซึ่งอยู่ในวัยสูงอายุ 3. ยอมเข้าสังคมเพราะเล็งเห็นผลประโยชน์ต่อครอบครัว แต่มีโอกาสถูกหลอกเพราะความไม่รอบคอบ 4. เมื่อสตรีที่มีลูกจะกลับไปทำงานอีกครั้ง มักไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว 5. สตรีที่เก่งรอบด้านอาจทำให้สามีรู้สึกกดดันและหลงผิดนอกใจได้ B. สตรีที่แต่งงานแล้วและไม่มีบุตร มีภาพลักษณ์ที่สะท้อนจากละครเรื่องนี้ คือ 1. ถูกกดดันให้รีบมีลูก 2. หากไม่มีการเติมเต็มความรักให้แก่กันจะทำให้รู้สึกเบื่อในชีวิตคู่ 3. หน้าที่การงานที่มั่นคงของสามีทำให้พ่อตาแม่ยายเข้าข้างลูกเขย 4. การหย่าร้างและความรักที่ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่าฝ่ายชายยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ใหญ่ตอนปลายและผู้สูงอายุ 5. ผู้หญิงมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้นและสามารถแบ่งเบาภาระของเพศชายได้ C. สตรีที่ไม่แต่งงาน มีภาพลักษณ์ที่สะท้อนจากละครเรื่องนี้ คือ 1. สตรีถูกกดดันจากครอบครัวให้รีบหาคู่แต่งงาน 2. การดูตัวยังเป็นวิธีหาคู่ครองแต่งงานที่นิยม และสังคมมีบรรทัดฐานต่อคุณสมบัติของเพศชายสูงมาก 3. การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานเป็นเรื่องที่ยอมรับได้มากขึ้นในสังคมจีน 4. สตรีที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มีการแข่งขันในที่ทำงานสูง 5. สตรีต้องอยู่อย่างพึ่งพาตนเอง