การแปลและการล่ามภาษาสเปน
Permanent URI for this collection
Browse
Recent Submissions
การแปลประโยคกรรมวาจกจากภาษาสเปนเป็นภาษาไทย: กรณีศึกษา การแปลข่าวภาษาสเปนโดยสำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ประโยคกรรมวาจกในภาษาไทยสามารถแสดงนัยยะเชิงบวกหรือเชิงลบที่ผู้ส่งสารมีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ภาษาสเปนไม่สามารถทำได้ อีกทั้งภาษาสเปนยังมีโครงสร้างที่ไม่ปรากฏในภาษาไทย ได้แก่ ประโยคกรรมวาจกประเภท pasiva refleja การศึกษาการแปลประโยคกรรมวาจกโดยไม่เปลี่ยนแปลงความหมายของต้นฉบับจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการแปลประโยคกรรมวาจกจากภาษาสเปนเป็นภาษาไทย โดยได้ทำการวิเคราะห์บทแปลข่าวจากภาษาสเปนเป็นภาษาไทยที่แปลโดยสำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 198 ข่าว จากผลการวิเคราะห์การแปลประโยคประเภท pasiva perifrástica จำนวน 161 ประโยคและการแปลประโยคประเภท pasiva refleja จำนวน 213 ประโยค พบว่ากลวิธีที่ใช้ในการแปลประโยคประเภท pasiva perifrástica มากที่สุดคือกลวิธีการแปลด้วยประโยคกรรมวาจกที่ปรากฏตัวบ่งชี้ ถูก และกลวิธีที่ใช้ในการแปลประโยคประเภท pasiva refleja มากที่สุดคือกลวิธีการเติมประธานด้วยการตีความจากบริบท ในแง่ของปัจจัยในการเลือกใช้กลวิธี พบว่าความใกล้เคียงกับโครงสร้างประโยคต้นฉบับเป็นปัจจัยหลักในการเลือกกลวิธีในการแปล ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่การยึดติดกับขนบการแปลดั้งเดิมของผู้แปลและความหมายเชิงบวก เชิงลบ หรือเป็นกลางของประโยคที่แปล
การศึกษากลวิธีการแปลข้ามวัฒนธรรมจากภาษาไทยเป็นภาษาสเปน ในบทบรรยายภาพยนตร์ชุดเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 องค์ประกันหงสา
วิทยานิพนธ์เล่มนี้นำเสนอกลวิธีการแปลข้ามวัฒนธรรมจากภาษาไทยเป็นภาษาสเปนในบทบรรยายภาพยนตร์ชุดเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 องค์ประกันหงสา โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกรณีการแปลคำศัพท์ทางวัฒนธรรม 60 คำที่ปรากฏในบทบรรยายภาพยนตร์ภาษาสเปนดังกล่าวเพื่อระบุกลวิธีที่ผู้แปลใช้ในการแปล และวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการสื่อความหมายของ คำแปลที่ได้ จากการศึกษาพบว่า คำศัพท์ทางวัฒนธรรมที่พบมีทั้งหมด 6 หมวดหมู่ ได้แก่ หมวดนิเวศวิทยา หมวดวัตถุ หมวดการเมืองการปกครอง หมวดการงาน หมวดความเชื่อและศาสนา และหมวดชื่อสถานที่ และกลวิธีที่ผู้แปลเลือกใช้มีทั้งหมด 5 กลวิธี ได้แก่ การทับศัพท์ การใช้คำที่เป็นที่รู้จักแล้วในภาษาปลายทาง การแทนที่ด้วยคำเทียบเท่าทางวัฒนธรรม การสร้างความเทียบเท่าด้านการใช้งาน และการตัดออก โดยพบว่ากลวิธีที่มีการใช้มากที่สุดในการแปลคำทางวัฒนธรรมทุกหมวด ยกเว้นหมวดชื่อสถานที่ คือกลวิธีการสร้างความเทียบเท่าด้านการใช้งาน และปัจจัยที่ผู้แปลคำนึงถึงในการเลือกใช้กลวิธีการแปลคือการสื่อความหมายและการแปลให้อยู่ในหลักเกณฑ์ของบทบรรยายภาพยนตร์ ผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์ประสิทธิภาพในการสื่อความหมายของคำแปลที่ได้จากแต่ละกลวิธี โดยจำแนกระดับความเทียบเท่าของความหมายที่เกิดขึ้นออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับความหมายอ้างถึง ระดับความหมายที่เข้าใจได้จากบริบทประกอบ ระดับความหมายที่เทียบเท่ากันเฉพาะด้านการใช้งาน และสรุปได้ว่าประสิทธิภาพของแต่ละกลวิธีขึ้นอยู่กับว่าผู้แปลเลือกใช้กลวิธีนั้นกับคำศัพท์ในหมวดหมู่ใด และคำแปลนั้นสามารถรักษาใจความสำคัญของเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ ตลอดจนรักษาความเข้ากันกับบริบทและภาพที่ปรากฏในฉากนั้น ๆ ของภาพยนตร์ได้หรือไม่ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับกลวิธีการแปลคำศัพท์ทางวัฒนธรรมหรือกำลังหาแนวทางการแปลคำศัพท์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในรูปแบบบทบรรยายภาพยนตร์
การแปลคำภาษาสเปนในต้นฉบับภาษาอังกฤษของภาพยนตร์เรื่อง Coco เป็นภาษาไทย
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากลวิธีการแปลบทบรรยายไทยจากเสียงฉบับภาษา อังกฤษที่มีภาษาสเปนแทรก 2) วิเคราะห์ปัจจัยในการเลือกกลวิธีการแปลคำภาษาสเปนในเสียงต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย 3) สำรวจความเข้าใจและความพึงพอใจของผู้ชมชาวไทยที่มีต่อกลวิธีการแปลคำภาษาสเปนแบบต่างๆในบทบรรยายของภาพยนตร์เรื่องนี้ จากการเก็บข้อมูลคำภาษาสเปนที่แทรกอยู่ในต้นฉบับภาษาอังกฤษในภาพยนตร์เรื่อง Coco (วันอลวน วิญญาณอลเวง) พบคำภาษาสเปนในต้นฉบับภาษาอังกฤษในภาพยนตร์ทั้งหมด 182 ครั้งซึ่งใช้กลวิธีการแปล 4 กลวิธีได้แก่ 1) การแปลแบบตรงตัว 2) การแปลแบบเอาความ 3) การละ 4) การทับศัพท์ จากการศึกษาพบว่ากลวิธีการแปลแบบตรงตัว ถูกนำมาใช้มากที่สุด 80 ครั้ง ในกรณีที่หากใช้กลวิธีการแปลแบบอื่นจะทำให้ผู้ชมชาวไทยไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวละครพูด ส่วนการทับศัพท์เป็นกลวิธีที่สองที่พบรองลงมาทั้งหมด 61 ครั้ง โดยส่วนใหญ่ใช้ในคำเรียกญาติซึ่งมีคำที่ออกเสียงลักษณะคล้ายคำในภาษาไทยหลายคำ กลวิธีการแปลแบบเอาความถูกใช้ 38 ครั้ง ในกรณี ที่ไม่สามารถแปลตรงตัวได้ เนื่องจากไม่สื่อความหรือไม่สละสลวย และสุดท้ายกลวิธีแบบละความเป็นกลวิธีที่พบน้อยที่สุดคือ 3 ครั้ง เนื่องจากผู้แปลพยายามถ่ายทอดความหมายในต้นฉบับโดยไม่ละทิ้งไป และกรณีการละความที่พบไม่ได้ส่งผลต่อความเข้าใจเนื้อหาของผู้ชม
การแปลความขบขันในบทบรรยายใต้ภาพผ่านภาษากลาง: กรณีศึกษาภาพยนตร์เรื่อง ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะ เฟค
การสร้างความเทียบเท่าด้านการใช้งาน: กรณีศึกษาคำแปลบทบรรยายภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการสร้างความเทียบเท่าด้านการใช้งานในการแปลภาพยนตร์ เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 องค์ประกันหงสา จากบทภาพยนตร์ภาษาไทยเป็นบท บรรยายภาพยนตร์ภาษาสเปน โดยศึกษาวิเคราะห์จากแนวทางการแปลคำศัพท์ทางวัฒนธรรมด้วยการ สร้างความเทียบเท่าด้านการใช้งานที่พบในบทบรรยายภาษาสเปนของภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมด 49 กรณี ผลการศึกษาพบว่า การสร้างความเทียบเท่าด้านการใช้งานทำได้โดยการแยกองค์ประกอบความหมายของ คำที่ต้องการแปลออกมาเป็นส่วนของบทบาทหน้าที่ในบริบทและองค์ประกอบความหมายอื่น และเลือก รักษานัยความหมายส่วนของบทบาทหน้าที่เอาไว้ เนื่องจากมีความสำคัญต่อใจความหลักของต้นฉบับมาก ที่สุดในบริบทนั้น ๆ หากตัดออกจะทำให้ใจความหลักเปลี่ยนแปลงไป และสามารถสรุปแนวทางการสร้าง ความเทียบเท่าด้านการใช้งานในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ 3 ลักษณะ คือ การใช้คำเหนือกลุ่ม การระบุหน้าที่ หรือคุณสมบัติ และการใช้คำที่อ้างถึงสิ่งต่างประเภทจากคำต้นฉบับแต่มีหน้าที่ คุณสมบัติ หรือก่อให้เกิดผล แบบเดียวกัน ข้อค้นพบในงานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับนักแปลและผู้สนใจศึกษาแนวทาง การแปลโดยการสร้างความเทียบเท่าด้านการใช้งานทั้งในรูปแบบความเรียงและบทบรรยายภาพยนตร์ โดยเฉพาะการใช้แนวทางดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างทางวัฒนธรรม
- 1 (current)
- 2
- 3
- 4
- 5