ภาษาศาสตร์ภาษาญี่ปุ่น
Permanent URI for this collection
Browse
Recent Submissions
การใช้ “ใช้” (使う、用いる、使用する、利用する) ในภาษาญี่ปุ่น กรณีศึกษา ผ่านเครื่องมือสืบค้นคลังข้อมูลภาษาออนไลน์ NINJAL-LWP for TWC
ในงานวิจัยนี้ศึกษาการใช้คำความหมายคล้ายที่มีความหมายว่า “ใช้” ในภาษาญี่ปุ่นได้แก่ 使う、用いる、使用する、利用する ผ่านคำปรากฏร่วมโดยสืบค้นผ่านเครื่องมือสืบค้นคลังข้อมูลภาษาออนไลน์ NINJAL-LWP for TWC ของมหาวิทยาลัยทซึคุบะ ผลการวิจัยพบลักษณะความสัมพันธ์ทางความหมายระหว่าง 使うกับ 用いる、使用する、利用する ในรูปแบบที่ 使う มีความหมายครอบคลุมความหมายคำกริยาความหมายคล้ายทั้งสามคำ คำนามปรากฏร่วมกับคำกริยา 使う แบ่งออกตามความหมายเป็น 8 กลุ่ม โดยคำความหมายคล้ายที่มาจากภาษาจีน 使用する และ 利用する มีขอบเขตความหมายที่แคบกว่าคำในภาษาญี่ปุ่น (使う) โดยปรากฏร่วมกับคำนามตามความหมาย 2 กลุ่ม และ 4 กลุ่ม ตามลำดับ ส่วนคำในภาษาญี่ปุ่น 用いる ไม่มีความแตกต่างกับ 使う ในมิติการใช้ประเด็นคำปรากฏร่วม แต่มีความต่างในประเด็นการใช้ในระดับภาษาทางการ
การวิเคราะห์เปรียบเทียบโครงสร้างบทสนทนาภาษาไทยของนักศึกษาชาวไทยและบทสนทนาภาษาญี่ปุ่นของผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นชาวไทยในสถานการณ์การตอบรับคำชักชวน
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการถ่ายโอนทางวัจนปฏิบัติศาสตร์ของผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นชาวไทย โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบโครงสร้างบทสนทนาและลักษณะการใช้วัจนกรรมในสถานการณ์การตอบรับคำชักชวนไปรับประทานอาหารของกลุ่มนักศึกษาชาวไทยที่สนทนาด้วยภาษาไทย (TT) และกลุ่มผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นชาวไทยที่สนทนาด้วยภาษาญี่ปุ่น (JT) กลุ่มละ 20 คู่ รวม 40 คู่ ทั้ง 2 กลุ่มเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เก็บข้อมูลด้วยการอัดเสียงบทสนทนาบทบาทสมมุติ ผลการศึกษา พบว่า<<ส่วนเปิดบทสนทนา>><<ส่วนชักชวน>>และ<<ส่วนปรึกษา>> เป็นส่วนที่ปรากฏบ่อยในบทสนทนาของทั้ง 2 กลุ่ม แต่เมื่อวิเคราะห์การเรียงลำดับวัจนกรรมในโครงสร้างบทสนทนาแต่ละส่วน พบความแตกต่างกันหลายประการ เช่น (1) TT มักเปิดบทสนทนาด้วยการเรียกขาน จากนั้นชักชวนคู่สนทนาทันที แต่ JT จะเรียกขาน และรอจังหวะให้คู่สนทนาตอบรับ (2) เมื่อถูกชักชวน TT มักจะไม่ตอบรับโดยทันที แต่จะถามรายละเอียดและเจรจาร่วมกับผู้ชักชวน แล้วจึงตอบรับ ส่วน JT มักตอบรับคำชักชวนทันที (3) TT ปิดท้ายบทสนทนาด้วยการทักทาย JT ส่วนใหญ่ไม่มีส่วนปิดบทสนทนา นอกจากนี้ทั้ง 2 กลุ่มยังมีลักษณะการใช้วัจนกรรมที่แตกต่างกัน เช่น (1) TT มักพูดปฏิเสธตรง ๆ แต่กลุ่ม JT มักจะหลีกเลี่ยงการพูดปฏิเสธ (2) TT มักใช้วัจนกรรมแสดงทัศนะเพื่อโน้มน้าวคู่สนทนา แต่กลับไม่พบการใช้วัจนกรรมนี้ในกลุ่ม JT จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า ไม่พบการถ่ายโอนทางวัจนปฏิบัติศาสตร์ที่เด่นชัดในกลุ่ม JT ปัจจัยที่ทำให้ลักษณะการใช้ภาษาของทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างกัน คือ ตำราเรียนของผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นชาวไทย ความสามารถภาษาญี่ปุ่น และวัฒนธรรม ผลการศึกษาในครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะช่วยชี้แนะประเด็นในเรื่องการถ่ายโอนทางภาษา ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม
กลวิธีการปรับนามวลีจากภาษาญี่ปุ่นมาตรฐานสู่ภาษาญี่ปุ่นอย่างง่ายเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ในประเทศญี่ปุ่น: การศึกษาเชิงภาษาศาสตร์
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีทางภาษาศาสตร์ในการปรับนามวลีจากประโยคภาษาญี่ปุ่นมาตรฐานให้เป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างง่ายในบริบทการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ผลการวิจัยพบว่ามีกลวิธีในการปรับนามวลีคือ 1) กลวิธีการเปลี่ยนคำ โดยการเปลี่ยนนามวลีจากภาษาญี่ปุ่นมาตรฐานสู่ภาษาญี่ปุ่นอย่างง่ายมีการเปลี่ยนคำที่ง่ายกว่า เช่น การใช้คำที่มีความหมายคล้ายกัน การใช้คำพ้องความหมาย และการใช้คำลูกกลุ่มแทนคำจ่ากลุ่ม 2) การไม่ใช้คำประสมระหว่างคำญี่ปุ่นกับคำยืม 3) กลวิธีการลดความสุภาพ และ 4) กลวิธีการเพิ่มคำอธิบาย โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ การใช้อักษรฮิรางานะเขียนแทนอักษรคันจิพร้อมเขียนขยายความ และการเพิ่มคำศัพท์ที่เขียนด้วยอักษรโรมันกำกับไว้ท้ายคำศัพท์ ซึ่งกลวิธีเหล่านี้เป็นกลวิธีการทางภาษาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นกลวิธีเชิงอรรถศาสตร์ กลวิธีเชิงระบบหน่วยคำ กลวิธีเชิงวากยสัมพันธ์ หรือกลวิธีเชิงวัจนปฏิบัติศาตร์ นอกจากนี้บทความนี้ยังนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมจากหลักการภาษาญี่ปุ่นอย่างง่ายคือ มีการเติม o- หน้าคำในภาษาญี่ปุ่นอย่างง่ายไม่ได้ใช้เพื่อแสดงความสุภาพ แต่เป็นการใช้เพื่อทำให้คำไพเราะขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นบทความนี้ยังนำเสนอข้อมูลที่มีการใช้คำยืมและคำที่เขียนด้วยอักษรโรมันซึ่งขัดแย้งกับหลักการของภาษาญี่ปุ่นอย่างง่าย
สติกเกอร์และมีม: การสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
การศึกษารูปแบบภาษาแสดงอัตลักษณ์มีความสําคัญต่อการศึกษาภาษาญี่ปุ่นเพื่อการใช้ภาษาในสื่อบันเทิง เนื่องจากในกรณีภาษาญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากภาษาที่ใช้สื่อสารจริงมาก แต่กรณีศึกษาที่ผ่านมามักศึกษาในสื่อการ์ตูน ภาพยนตร์ ผู้วิจัยจึงศึกษาในเกมโทรศัพท์มือถือโดยใช้เกม “โปโปโลครอยซ์” ที่มีตัวละคร 89 ตัวเป็นกรณีศึกษา จากการศึกษารูปแบบภาษาแสดงอัตลักษณ์พบว่านอกจากคําสรรพนามและคําสร้างท้ายประโยคที่อ้างอิงจากงานวิจัยก่อนหน้า ยังพบรูปแบบการแยกใช้รูปธรรมดา กับรูปสุภาพ และการเปลี่ยนรูปตัวอักษรเพื่อแสดงอัตลักษณ์เพิ่มเติม และพบว่าความชัดเจนของอัตลักษณ์ตัวละครจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีส่วนแสดงรูปสุภาพ ส่วนแสดงคําสรรพนาม ส่วนคําสร้างท้ายประโยค หรือการเปลี่ยนรูปตัวอักษรเพิ่มขึ้นในภาษาของตัวละครตามลําดับ
การวิเคราะห์เชิงเปรียบต่างระหว่าง“กริยารูป teiku” ในภาษาญี่ปุ่น และ “กริยา + ไป” ในภาษาไทย: ข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนาการสอนภาษาญี่ปุ่นสำหรับผู้เรียนชาวไทย
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลการวิเคราะห์เปรียบต่างระหว่าง "กริยารูป teiku" ในภาษาญี่ปุ่นและรูป "กริยา + ไป" ในภาษาไทยไปเชื่อมโยงกับศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และเสนอแนะการพัฒนาการเรียนการสอนรูป teiku สำหรับผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นชาวไทย จากการวิเคราะห์ทำให้ทราบว่ารูป teiku ให้ความสำคัญกับประเด็นว่า "เคลื่อนที่อย่างไร" หรือให้ความสำคัญกับ "กระบวนการ" ในขณะที่ รูป "กริยา + ไป" จะให้ความสำคัญกับประเด็นว่า "(ใคร)อะไรเคลื่อนที่ไปถึงจุดใด" หรือให้ความสำคัญกับ "ผลลัพธ์" ความแตกต่างนี้ส่งผลให้เกิดการสอดคล้องที่ไม่เหมือนกันระหว่างรูปทั้งสอง วิธีใช้ที่ไม่สอดคล้องกันซึ่งเชื่อว่าน่าจะเข้าใจยากสำหรับผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นชาวไทย ได้แก่ วิธีใช้เชิงพื้นที่ keiki วิธีใช้เชิงเวลา keizoku และ takaiteki-keizoku งานวิจัยนี้เสนอแนะสองประเด็นใหญ่คือ การแบ่งวิธีใช้ใหม่ระหว่างวิธีใช้เชิงพื้นที่ futai และ keiki และการจัดลำดับการสอนใหม่ให้เหมาะสมกับผู้เรียนชาวไทย สำหรับการจัดลำดับการสอนนั้น ในระดับต้นได้เสนอให้สอนวิธีใช้เชิงเวลา keizoku ที่เจ้าของภาษาใช้มาก โดยสอนในรูปของคำศัพท์แทนการสอนรูป tsureteiku เนื่องจากรูป tsureteiku ไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับผู้เรียนชาวไทยเพราะมีความใกล้เคียงกับภาษาไทย และยังเสนอให้สอนวิธีใช้เชิงพื้นที่ keiki ในลำดับท้ายสุดใน 8 วิธีใช้ เพราะใช้น้อยมาก ประกอบกับเป็นวิธีใช้ที่เข้าใจยากสำหรับผู้เรียนชาวไทย นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ควรคำนึงเมื่อสอนรูป teiku อีกด้วย