การสอนภาษาญี่ปุ่น
Permanent URI for this collection
Browse
Recent Submissions
การพัฒนาทักษะการจำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น โดยใช้เทคนิคช่วยจำแบบใช้รูปภาพเป็นสื่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการพัฒนาทักษะการจำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 70 โดยใช้เทคนิคช่วยจำแบบใช้รูปภาพเป็นสื่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียน เดชะปัตตนยานุกูล 2) ศึกษาความคงทนในการจำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น โดยใช้เทคนิคช่วยจำแบบใช้รูปภาพเป็นสื่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล และ 3) ศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล ที่มีต่อแบบฝึกทักษะการจำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น โดยใช้เทคนิคช่วยจำแบบใช้รูปภาพเป็นสื่อ เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง ประชากรเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/9 ที่เลือกเรียนรายวิชาภาษาญี่ปุ่น จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 1) แบบฝึกทักษะการจำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบ และ 4) แบบสอบถามเจตคติ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1) ผลการพัฒนาทักษะการจำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นโดยใช้เทคนิคช่วยจำแบบใช้รูปภาพเป็นสื่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล มีผลสัมฤทธิ์ร้อยละ 81.87 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 70 2) ความคงทนในการจำของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล หลังจากใช้แบบฝึกทักษะการจำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น 2สัปดาห์ มีผลสัมฤทธิ์ร้อยละ 66.25 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ร้อยละ 60 3) เจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล ที่มีต่อแบบฝึกทักษะการจำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น โดยใช้เทคนิคช่วยจำแบบใช้รูปภาพเป็นสื่อ โดยรวมอยู่ในระดับดี
การศึกษาสภาพการบริหารการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาญี่ปุ่น ของโรงเรียน มัธยมศึกษา ที่เปิดสอนวิชาภาษาญี่ปุ่น ในเขตภาคเหนือ
งานวิจัยครั้งนี้มี จุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพการบริหารการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาญี่ปุ่น ของโรงเรียนมัธยมศึกษา ที่เปิดสอนวิชาภาษาญี่ปุ่น ในเขตภาคเหนือ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนวิชาภาษาญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 133 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า การบริหารการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาญี่ปุ่นของโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เปิดสอนวิชาภาษาญี่ปุ่น ในเขตภาคเหนือโดยรวมอยู่ในระดับมาก ประกอบด้วย 1) ด้านการวางแผนการจัดการเรียนรู้ พิจารณาเป็นรายข้อ ข้อที่อยู่ในระดับสูงสุด คือ สนับสนุนการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น 2) ด้านการปรับปรุง แก้ไขกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ พิจารณาเป็นรายข้อ ข้อที่อยู่ในระดับสูงสุด คือ พัฒนาครูให้มีความก้าวหน้าทางวิชาชีพครู 3) ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ข้อที่อยู่ในระดับสูงสุด คือ ประเมินผลการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ และ 4) ด้านการวัดผลและประเมินผลด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ พิจารณาเป็นรายข้อ ข้อที่อยู่ในระดับสูงสุด คือ ใช้เครื่องมือวัดที่หลากหลาย เหมาะสม ตรงตามจุดประสงค์ จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้
แนวทางการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการฟังภาษาญี่ปุ่นชั้นต้นและชั้นกลาง
บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอแนวทางการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการฟังภาษาญี่ปุ่นชั้นต้นและชั้นกลาง ผู้สอนได้นำรูปแบบการสอนที่ใช้ระเบียบวิธีฟัง-พูด (The Audio-Lingual Method) มาใช้ในการพัฒนาทักษะการฟังเพื่อความเข้าใจ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการสื่อสาร โดยใช้กิจกรรมในการสอนฟังภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร ซึ่งแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นตอนก่อนการฟัง (Pre-listening) 2) ขั้นตอนระหว่างฟัง (While-listening) และ3) ขั้นตอนหลังการฟัง (Post-listening) และสำหรับการเรียนการฟังในชั้นต้น ผู้สอนได้จัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบอีเลิร์นนิงเพื่อเสริมการเรียน (Supplement) เข้ามาเป็นส่วนเสริมจากการเรียนในชั้นเรียนปกติเพื่อส่งเสริมในการพัฒนาทักษะการฟังของผู้เรียน
การพัฒนาสื่อแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นระดับพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีความจริงเสริม
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาสื่อแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นระดับพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีความจริงเสริม 2) ประเมินประสิทธิภาพของสื่อแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นระดับพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีความจริงเสริม 3) ประเมิน ความพึงพอใจของผู้ใช้งานสื่อแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นระดับพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีความจริงเสริม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ 1) การประเมินประสิทธิภาพของระบบ คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดียและทางด้านภาษาศาสตร์ จำนวน 5 คน และ 2) การประเมินความพึงพอใจ คือ นักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษสื่อสารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยสื่อแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นระดับพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีความจริงเสริม แบบประเมินประสิทธิภาพ และแบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลวิจัยพบว่า (1) สื่อแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นระดับพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีความจริงเสริม สามารถนำไปใช้งานกับนักเรียนที่มีความสนใจได้จริง (2) ประสิทธิภาพของสื่อแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นระดับพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีความจริงเสริม ผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับ มาก (\bar{X} = 4.49) (3) การประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ผลประเมินภาพรวมอยู่ในระดับ มาก (\bar{X} = 4.31)
การพัฒนาบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบ เน้นภาระงานเพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาญี่ปุ่น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบเน้นภาระงานให้มีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อนและหลังเรียน และศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้บทเรียนออนไลน์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จำนวน 25 คน ใช้เวลาการจัดกิจกรรม จำนวน 18 ชั่วโมง ซึ่งได้ทำการทดสอบก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จำนวน 2 ชั่วโมง โดยใช้เวลาสอบนอกเวลาเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้เน้นภาระงานเป็นฐาน จำนวน 7 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐาน จำนวน 30 ข้อ ค่าความยากง่าย 0.55 และค่าอำนาจจำแนก 0.56 แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้บทเรียนออนไลน์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน มาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อมูลหาประสิทธิภาพ E1/E2 มีค่าเท่ากับ 75/75 และการทดสอบแบบค่าที แบบ Dependent กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05ผลการวิจัย พบว่า 1) บทเรียนออนไลน์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบเน้นภาระ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประกอบด้วยบทเรียนออนไลน์ 7 บทเรียน และการจัดการเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน ประกอบด้วย (1) ขั้นก่อนปฏิบัติภาระงาน (2) ขั้นตอนการฝึกทักษะ (3) ขั้นตอนปฏิบัติภาระงาน และ (4) ขั้นตอนการทำกิจกรรม มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 75.28/75.73 2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาญี่ปุ่น หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3) ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้บทเรียนออนไลน์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก